Tips for Kids : เด็กเล็กกับสนามกอล์ฟใหญ่

ฉบับที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องของ พื้นฐานวงสวิง ไม้กอล์ฟ และเด็กเล็ก วันนี้เรามาต่อกันที่เรื่องของเด็กเล็ก และสนามกอล์ฟ กันดีกว่าครับ

เด็กเล็กส่วนใหญ่ในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะเด็กไทยไม่ว่าตัวจะเล็กแค่ไหนถ้ามาเล่นกอล์ฟแล้วก็ต้องออกรอบสนามผู้ใหญ่กันทั้งนั้น มีเพียงระยะแต่ละหลุมเท่านั้นที่เราลดให้สั้นลงมา (แต่ระยะข้ามน้ำคงเดิมเพราะย่อขนาดบ่อน้ำไม่ได้ได้แต่เลี่ยงๆ กันไป) เราไม่มีสนามกอล์ฟย่อส่วนที่เป็นสัดส่วนเด็ก สิ่งที่เด็กจะได้ใช้ของเด็กก็มีแค่เสื้อผ้า รองเท้า ถุงมือ และไม้กอล์ฟเท่านั้น ส่วนลูกกอล์ฟ หลุมกอล์ฟ กรีน ต้นหญ้า ความเหนียวของหญ้า สปีดของกรีน ขนาดความลึกของหลุมทราย ขนาดต้นไม้ทั้งความกว้าง และความสูง ความแรงของลม ฯลฯ ล้วนแต่เป็นขนาดเดียวกันกับที่ผู้ใหญ่ที่ต้องพบเจอทั้งนั้น

และเมื่อเทียบกับไม้กอล์ฟของเด็ก ขนาดตัวเด็ก และขนาดกล้ามเนื้อของเด็กก็เท่ากับว่าเด็กเล็กต้องสู้กับสิ่งที่ใหญ่กว่า เหนียวกว่า สูงกว่า ฝืดกว่าที่ผู้ใหญ่ต้องสู้ทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กต้องตีจากบ่อทรายขนาดปกติลึกประมาณเอวผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเด็กเล็กคงเที่ยบเท่าผู้ใหญ่ต้องระเบิดทรายบ่อที่ลึกเท่าหัวไหล่กันเลยทีเดียว ยิ่งถ้าลึกเกือบท่วมหัวผู้ใหญ่ด้วยแล้วคงเท่ากับเด็กเล็กต้องสู้กับบ่อทรายที่สูงสองคนต่อกันของเค้าเลย หรือถ้าผู้ใหญ่ต้องตีจากหญ้าที่ยาวแล้วย้อนหญ้า ถ้าเด็กเล็กต้องตีในจุดเดียวกัน ความเหนียวของหญ้าไม่ได้ลดลงตามตัวเด็กเลย ความเหนียวของหญ้ายังคงเดิม และสู้กับเด็กแบบเดียวกับที่ผู้ใหญ่เจอ เด็กที่มีขนาดกล้ามเนื้อจิ๋วเดียว กับน้ำหนักไม้กอล์ฟที่เบาหวิวต้องเจอแบบนี้เช่นกัน

จากที่ได้กล่าวมาแล้วเราจะสอนเด็กขณะออกรอบอย่างไรดี?  ผมขอแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกสนามที่ใหญ่ทำให้เด็กเล็กเล่นได้ยากกว่าผู้ใหญ่ กับส่วนที่สองคือ สนามที่ใหญ่ทำให้เด็กเล็กเล่นได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ในส่วนที่เด็กเล็กเล่นได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เราต้องสอนให้เด็กเล็กเล่นในสถานการณ์ที่ถ้าเป็นผู้ใหญ่เจอ ผู้ใหญ่จะเล่นเช่นไรในสถานการณ์นั้นๆ ด้วยสัดส่วนที่ผู้ใหญ่เจอต่อสนามเป็นสัดส่วนเดียวกับเด็กต่อสนาม เช่นถ้าเด็กเล็กตกทรายที่ขอบบ่อทรายสูงหนึ่งเมตรครึ่ง สัดส่วนก็คงจะคล้ายกับผู้ใหญ่ตกทรายที่ขอบบ่อทรายสูงสามเมตรกว่าๆ ก็เปรี่ยบได้ว่าผู้ใหญ่ต้องระเบิดทรายให้ข้ามรถทัวร์สองชั้นกันเลยทีเดียว ถ้าเราเจออย่างนั้นเราคงอาจระเบิดทรายย้อนกลับไปในแฟร์เวย์ก่อนแล้วค่อยชิพให้ออนทีหลัง เราก็ควรสอนเด็กให้คิดทำแบบนั้นเช่นกัน

หรืออีกสถานการณ์หนึ่งผมพึ่งเจอมาสดๆ ร้อน ๆกับตัวเองเลยคือ การพัตต์ระยะไกลของเด็กเล็ก สมมุติกรีนที่จะพัตต์สปีดประมาณ 8 ฟุต (ค่าสติมมิเตอร์) ซึ่งเด็กเล็กคนนั้นต้องพัตต์ไกลประมาณ 15 หลา การสอนให้เด็กสโตรกพัตต์แบบลูกตุ้ม ห้ามไม่ให้ใช้ข้อมือ และห้ามถ่ายน้ำหนัก (ห้ามตัวโยก ห้ามเด็กคิดเอง) ด้วยขนาดกล้ามเนื้อ และเรี่ยวแรงของกล้ามเนื้อ บวกกับน้ำหนักของไม้พัตต์ กับความฝืดของกรีนสปีด 8 เมื่อเทียบกับขนาดทุกอย่างของเด็กคนนั้นสัดส่วนคงจะคล้ายๆ กับผู้ใหญ่ต้องพัตต์บนกรีนในระยะ 20-30 หลา ที่มีกรีนสปีด 4 หรือ 5 เลยทีเดียว ซึ่งคงเที่ยบได้คล้ายๆ กับผู้ใหญ่ต้องขึ้นไปพัตต์กับหญ้าบนแท่นที่ออฟด้วยระยะห่างหลุม 20-30 หลา แล้วจะให้สโตรกแบบลูกตุ้มโดยมือแขนนิ่ง (ห้ามใช้ข้อมือ) และตัวนิ่ง (ห้ามถ่ายน้ำหนัก) จะทำได้อย่างไร ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่คนนั้น คุณจะสโตรกพัตต์แบบที่โปรสั่งมาได้ไหม เพราะเด็กคนนั้นในสถานการณ์นี้เค้าบอกว่า เค้าทำไม่ได้หรอก ถ้าจะให้พัตต์แบบนั้น เพราะเค้าจะพัตต์ไม่ถึง ถ้าจะให้เค้าพัตต์ให้ถึงหลุมต้องขอถ่ายน้ำหนักหรือใช้ข้อมือบ้าง อ่านแล้วคิดอย่างไรกันบ้างครับ

คราวนี้เรามาดูในส่วนที่เด็กเล่นง่ายกว่าผู้ใหญ่บ้าง เรื่องหนึ่งคือ ขนาดความกว้างแฟร์เวย์ เด็กเล่นขนาดเดียวกับผู้ใหญ่ในขณะที่ระยะตีแต่ละช็อตของเด็กสั้นนิดเดียว ฉะนั้นมุมเฉียงในช็อตของเด็กต้องผิดพลาดเป็นมุมมากเหลือเกินถึงจะออกนอกแฟร์เวย์ ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่ตีไกลๆ พลาดตีเฉียงนิดเดียวก็หลุดแฟร์เวย์แล้ว อีกเรื่องนึงคือ การตีที่ผู้ใหญ่ตีได้แรงกว่าเด็กมาก ทำให้สปินของลูกสูงกว่าของเด็ก ในการผิดพลาดหน้าไม้เปิดปิดเท่ากันการเลี้ยวของช้อตของผู้ใหญ่จึงสูงกว่าช็อตที่ตีโดยเด็กมาก ฉะนั้นในทัวร์นาเมนท์เด็กเล็ก เด็กที่ตีช็อตโดนลูกจะท็อปบ้าง เฉียงบ้าง หรือโดนดีตีตรงบ้างจะไม่เห็นความต่างที่ได้เปรี่ยบเสียเปรียบในเรื่องการออกนอกแฟร์เวย์กันเลย การมีพื้นฐานจะดีหรือไม่ดีจึงจะยังไม่เห็นความแตกต่างชัดเจนเพราะยังคงอยู่ในแฟร์เวย์ด้วยกัน ออนกรีนด้วยกัน หากซ้อมมามากๆ พอกัน เด็กๆ จะชนะกันด้วยจำนวนพัตต์ที่น้อยกว่า กับความตั้งใจ สนุกในการเล่นกอล์ฟ และสมาธิที่ต่างกัน แต่พอเด็กๆ ได้โตขึ้นวุติภาวะมาเท่าเทียมกันร่างกายขนาดเป็นเด็กโตเหมือนกัน คนที่มีพื้นฐานดีจึงจะเริ่มเห็นความได้เปรี่ยบขึ้นมาเรื่อยๆ

ฉะนั้นผมอยากสรุปว่า เด็กๆ ควรเล่นกอล์ฟแบบสนุก และปล่อยให้พวกเขาคิดเองเล่นเองบ้าง  บางครั้งเราก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาจึงเล่นแบบนั้น แบบนี้ ถ้าเรามัวแต่คิดในกรอบของตัวเอง ส่วนพื้นฐานสวิงควรจะต้องเตรียมไว้ให้พร้อม อย่าสนใจแต่จะต้องชนะ จนไม่กล้าเปลี่ยนแปลงปรับปรุงพัฒนาพื้นฐาน

เรื่องโดย: โปรษมา ศุษิลวรณ์