Putting Solution : การพัตต์เป็นศาสตร์ หรือศิลป์

ผมเชื่อว่าคำถามนี้ยังคงเป็นปัญหาคลาสสิคหรือปัญหาโลกแตกเหมือนกับคำถามที่ถามว่า “ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน” แล้วถ้าถามต่อไปว่า ผมยกหัวข้อนี้มาพูดเพื่ออะไร?

สาเหตุก็เพราะ จากได้ศึกษาถึงหลักการพัตต์ของแต่ละสำนักแล้ว ทุกๆ สถาบันมีจุดหมายเดียวกันนั่นก็คือต้องการให้นักเรียนมีการพัตต์ที่สามารถหวังผลได้มากขึ้น และมีข้อผิดพลาดที่น้อยลง แต่ต่างก็มีวิธีการที่เป็นของตนเอง บ้างก็เน้นไปในแนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นหลักทางฟิสิกส์, หลักการทางกายภาพทางร่างกายของมนุษย์มาอ้างอิง เพื่อให้เห็นผลที่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักความจริง บ้างก็เน้นไปที่การฝึกสอนให้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้ เพราะต่างก็มีความเชื่อว่า คนไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะสามารถทำทุกอย่างได้ตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ และยอมรับความผิดพลาดของมนุษย์ได้

ถ้าเราลองมาพิจารณาดูให้ดี แนวทางทั้งสอง ถ้าคิดจะเป็นอริกัน เรื่องราวมันคงจะต้องใหญ่โต บานปลาย อาจถึงขั้นเป็นสงครามทางทฤษฎีได้เลยทีเดียว แต่ในความคิดของผม กลับรู้สึกว่าถ้าศาสตร์ทั้งสองสายมารวมกันได้มันจะเป็นอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อนักกอล์ฟเป็นอย่างมาก ผมอยากยกตัวอย่างในรูปแบบง่ายๆ และอยากให้ท่านผู้อ่านลองคิดตามไปพร้อมๆ กันนะครับว่า ทำไมตอนเด็กเราถึงจะต้องเรียนรู้พยัญชนะ หรือตัวอักษรทุกตัวให้ได้ก่อน? ถ้าเราปราศจากความรู้เรื่องเกี่ยวกับ รูปแบบ, รูปร่างรวมถึงการออกเสียงของพยัณชนะแต่ละตัวแล้ว เราจะสามารถผสมเสียงออกมาเป็นคำที่มีความหมายแตกต่างกันได้ และเมื่อรู้จักการผสมเสียงผสมคำได้แล้ว เราก็สามารถแต่งประโยคหรือแต่งกลอนได้ในที่สุด

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในช่วงเริ่มแรก เราอาจจะต้องเน้นไปในภาควิชาการ หรือหลักการที่เป็นวิทยาศาสตร์เสียก่อน และพอเราชำนาญมากขึ้น เราก็จะสามารถนำความรู้มาปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ได้ ถ้ากล่าวแบบสรุปในความคิดของผมนั้น การเรียนรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์จนเกิดความชำนาญ สามารถที่จะทำให้ท่านเป็นศิลปินที่เก่งได้ ดังนั้นการพัตต์จึงน่าจะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะทั้งสองสิ่งนี้เป็นอะไรที่ต้องเดินไปด้วยกัน เราจะขาดสิ่งใดสิ่งหนั่งไปไม่ได้ ดีไซน์ที่สวยงามย่อมมาคู่กับประสิทธิภาพที่สูงสุดด้วยเช่นกัน ในฉบับนี้ก็คงขออนุญาติฝากแนวคิดไว้แบ่งปันกันดูนะครับ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับนักกอล์ฟหลายๆ ท่าน แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ สวัสดีครับ……

เรื่องโดย: โปรกอล์ฟ ฐิติพงษ์ ณ สงขลา #319