Mental Golf : องค์ประกอบที่จะทำให้เด็กๆ สำเร็จเป็นนักกอล์ฟอาชีพที่เลี้ยงตัวได้

มีคำถามจากผู้ปกครองว่า “จะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่าลูกๆ จะประสบความสำเร็จในกีฬากอล์ฟ” หรือ “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะเล่นต่อเนื่องหรือจะเลิกเล่น”

ผมก็ฟันธงตอบยืนยันไม่ได้ เพราะอนาคตยังอีกยาวไกล และในระหว่างเส้นทางของอนาคตมีตัวแปรหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้านำเอาสิ่งที่เห็นจากประสบการณ์ร่วม 20 ปี เก็บข้อมูล และเอามาวิเคราะห์ เพื่อทำนายอนาคต ก็มั่นใจว่าไม่ผิดแน่นอนแนวทางของเด็กหนึ่งคนที่สำเร็จ หรือล้มเหลว อาจจะไม่ใช่แนวทางของคนอื่นๆ จึงเอาตัวอย่างหนึ่งเดียวมาเปรียบเทียบไม่ดีนัก ควรเอาหลักการที่เป็นวิชาการ ซึ่งหมายถึงว่า ไม่ใช่ให้ฟังเพียงแค่ครอบครัวเดียว ตามหลักวิชาการง่ายๆ ทางจิตวิทยาของมนุษย์ กับการยังคงอยู่กับการทำสิ่งเดิมๆโดยไม่เลิกลา เป็นเพราะ ตัวเองชอบ รัก และมีความสุขกับการทำสิ่งนั้น

ดังนั้น โจทย์จึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้เด็กๆ เล่นกอล์ฟด้วยความสุข ด้วยความสนุก ซึ่งจะทำให้เขาอยากเล่นด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่เล่นเพราะพ่อแม่ชอบ พ่อแม่อยากให้เขาเล่น หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากเหตุผลความชอบภายใน แต่มาจากเหตุผลภายนอกนั่นคือ องค์ประกอบข้อแรก ส่วนองค์ประกอบข้อสองคือ เรื่องของความตั้งใจ ความมีวินัยในตัวเอง ถ้านักกีฬาอยากเล่นกอล์ฟ อยากซ้อมกอล์ฟด้วยตัวเอง โดยที่ไม่มีใครบอก ไม่มีใครผลักดัน และซ้อมครั้งหนึ่งนานๆ โดยไม่อยากเลิก คนๆ นี้ก็จัดเป็นเด็กที่รับรู้ได้ว่า ถ้าอยากเก่งต้องขยันซ้อม ต้องมีสมาธิ ซึ่งน่าจะดีกว่าคนที่มาซ้อมแบบเสียไม่ได้ มาซ้อม 1 ชั่วโมง หมดก็หมดกัน ไม่มาก่อน ไม่ซ้อมเพิ่ม ซึ่งอนาคตเขาอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ แต่ ณ ตอนนี้ ก็น่าเป็นห่วง ซึ่งก็ต้องพยายามที่จะหาสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเปลี่ยนเป็นคนใหม่ให้ได้

องค์ประกอบข้อต่อไปคือ แรงหนุน ซึ่งเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญกับการเข้าร่วมแข่งขันอย่างต่อเนื่อง หรือได้ฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทั้งปัจจัยทางการเงิน และปัจจัยที่เกี่ยวกับการมีเวลาของพ่อแม่ ที่จะมีเวลาพาไปซ้อม และแข่งขัน ถ้าทุกอย่างทำให้นานๆได้ไปแข่งที ซ้อมไม่ต่อเนื่อง เพราะไม่มีใครพาไป เหล่านี้ก็ทำให้การทำนายใช้เวลานานมากขึ้นว่าอะไรจะเกิดขึ้น และศักยภาพเป็นเช่นไรในอนาคต ถ้าทำเต็มที่แล้วตอนเด็ก ก็พอจะรู้ว่าเด็กคนนี้ศักยภาพเป็นอย่างไร องค์ประกอบข้อสุดท้ายคือ ต้องมีทีมงานผู้ฝึกสอนที่แข็งแกร่งพอ มีความรู้พอ มีความตั้งใจร่วมพอ สามารถแนะแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้องได้ วิเคราะห์ ประเมินผล และทำให้เกิดการพัฒนาได้

กล่าวคือ องค์ประกอบทั้ง 4 ข้อ คือพื้นฐานที่สำคัญที่ต้องมานั่งพิจารณาว่าอนาคตเด็กจะเป็นอย่างไร จะสามารถเลี้ยงตัวได้หรือไม่

เรื่องโดย: โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์ #322