Mental Golf : ลูกชนะได้ถ้วย แต่เสียเพื่อน

มีผู้ปกครองที่เพิ่งมีลูกเข้าสู่วงการแข่งขันกอล์ฟ มาแสดงความรู้สึกว่า ทำไมวงการกอล์ฟเยาวชนเมืองไทยเราเดี๋ยวนี้ถึงเป็นอย่างนี้ พาลูกไปแข่งแล้วรู้สึกแย่ ไม่อยากพาไปแข่งเลย ผมถามกลับไป ว่า “มันเป็นอย่างไรครับ ที่ทำให้รู้สึกแย่”

ผู้ปกครองท่านนั้นได้เล่นให้ผมฟัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เจอกับตัวเอง และทั้งที่พบเห็นคนอื่นๆ เป็นกัน จนรู้สึกว่า วงการนี้มันเป็นอย่างไรกัน กีฬากอล์ฟเป็นกีฬาของสุภาพบุรุษไม่ใช่หรือ “อะไรบ้างครับที่เจอ” สิ่งที่ตัวเองเจอคือ พ่อ แม่ ด่าว่าลูก ตำหนิลูก หรือบางครั้งก็ทำโทษลูก เมื่อลูกทำผิดพลาดต่อหน้าเพื่อน ต่อหน้าผู้ปกครองคนอื่นในสนาม หรือหลังการแข่งขัน และยังมีผู้ปกครองของเด็กอีกคนหนึ่งไปว่า หรือตำหนิคู่แข่งของลูกตัวเอง ทำให้ผู้ปกครองของเด็กที่ถูกตำหนิทนไม่ได้ เข้าไปต่อว่าและก็ถกเถียง เกิดทะเลาะกัน หรือแม้กระทั่ง กฎของการแข่งขันบอกว่า ห้ามสอน ห้ามแนะนำ แต่ก็ยังมีผู้ปกครองเข้าไปสอนทั้งบนกรีน บนทีออฟ

หรือการแสดงออกที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬาของเด็กๆ เพื่อที่จะทำให้เพื่อนถูกปรับโทษ ทั้งๆ ที่เป็นเพื่อนกัน อาทิ แคดดี้เข้ามากางร่มให้ตอนพัตต์ ก็ไม่เตือนเพื่อนเตือนแคดดี้ก่อน ปล่อยให้ทำ พอไปเจอกรรมการก็ไปถามกรรมการ กรรมการถามแคดดี้ถามนักกีฬาว่าทำไหม ทั้งคู่ตอบว่าทำ เพราะแคดดี้ และนักกีฬาไม่รู้มาก่อนว่าทำไม่ได้ ก็ถูกปรับโทษกันไป 2 แต้ม หรือแม้แต่การให้เพื่อนย้ายมาร์ค แล้วเพื่อนเผลอไม่ย้ายกลับ ก็ไม่เตือนเพื่อนให้ย้ายกลับ กลับไปรอจังหวะปรับโทษเขาหลังจากที่เขาทำไปแล้ว

สิ่งเหล่านี้ พอมันเกิดขึ้น ก็กลายเป็นสิ่งที่เสียความรู้สึกกัน กลายเป็นสิ่งที่บาดหมางใจกัน คนภายนอกรู้เข้าก็พลอยผสมโรง เอาไปพูดต่อ เสียความรู้สึกกันไป ผมได้บอกกลับไปว่า เรื่องที่เกิดขึ้นพวกนี้ ไม่ใช่เพิ่งเป็น เพราะตั้งแต่ผมอยู่วงการกอล์ฟมา พบก็เห็นมาตั้งแต่แรกๆ แล้ว และบอกได้เลยว่าไม่ใช่แค่วงกากอล์ฟเท่านั้น แต่ในทุกวงการกีฬาที่เด็กๆ แข่งขันกัน พ่อแม่จะเป็นแบบนี้หมด ไม่ว่าจะเป็นเทนนิส ว่ายน้ำ เทควันโด ฯลฯ

พ่อแม่ทุกคนรักลูก อยากให้ลูกได้ดี อยากให้ลูกของตนเองเก่งกว่าคนอื่น ไม่อยากเห็นว่าใครมารังแกลูกของตัวเอง มีเหตุผล มีวิธีการในการเลี้ยงลูกของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ที่พูดเช่นนี้ก็เป็นเพราะ ประเทศไทยเรา (ผู้ใหญ่ทุกระดับ) ไม่ได้เอากีฬามาเป็นกลยุทธ์ในการสั่งสอนให้คนในชาติรักกัน มีน้ำใจนักกีฬาต่อกัน ไม่ได้ทำให้เด็กๆ รับรู้ เรียนรู้ถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ไม่ได้ส่งเสริมคำว่า รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มีแต่การยกย่องคนเก่ง คนเรียนดี คนมีเงิน ทำให้เกิดเป็นสังคมของการแข่งขัน

และพอเด็กๆ เหล่านั้น กลายมาเป็นพ่อแม่ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พ่อแม่ก็จะไม่เห็นความสำคัญ ไม่สอนลูก แต่กลับตั้งเป้าที่จะทำให้ลูกเก่ง ทำให้ลูกเหนือกว่าคนอื่น โดยไม่สนใจใครๆ ไม่สนใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต ยิ่งปัจจุบัน โลกโซเชียลมีอิทธิพลสูง ก็ขอเพียงได้ถ่ายรูปลูกลงเฟสบุ๊ค ว่าลูกได้ถ้วยก็พอ แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร จะปล่อยให้เป็นแบบนี้หรือ ใครจะแก้ไขได้ ถ้าไม่เริ่มต้นที่ผู้ปกครอง ที่จะต้องหันมาพิจารณาที่ตัวเองก่อนว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้น มันเป็นอย่างไร ถ้าอะไรไม่ดีก็ตัดสินใจลงมือเปลี่ยนแปลง ศึกษาคำว่า “การมีน้ำใจนักกีฬา” ต้องทำอย่างไร

หากไม่เปลี่ยนแปลง ความอิจฉาริษยา การแข่งขันที่ทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ ก็ต้องทำใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตว่า ถึงแม้จะลูกตัวเองจะสำเร็จ แต่คุณก็จะโดดเดี่ยวไม่มีเพื่อน ไม่ได้รับการยกย่อง หรือความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกก็จะมีน้อยลง หรือลูกคุณจะเลิกเล่นกอล์ฟในอนาคต ยังมีอะไรที่เราจะเจอในอนาคตอีกมากมายเมื่อลูกเราเก่งขึ้นตอนโต ร่วมมือกัน เดินไปด้วยกันเป็นทีมจะแข็งแรงกว่า “ทีมประเทศไทย”

เรื่องโดย: โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์ #329