Golf Course Superintendent : พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฉบับใหม่ ใครได้ ใครเสีย

กลายเป็นประเด็นร้อนไปแล้ว สำหรับการที่รัฐบาลเตรียม ออก พ.ร.บ.การเก็บภาษีน้ำ ทั้งจากแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง โดยกำหนดการใช้น้ำไว้ 3 ประเภท  ดังนี้

ใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ ซึ่งหมายถึงประชาชนทั่วไป ไม่ต้องเสียค่าใช้น้ำ ใช้น้ำเพื่อการเกษตร, เลี้ยงสัตว์ และการพาณิชย์ เสียค่าน้ำไม่เกิน 50 สตางค์ ต่อ ลบ.ม / ด้านการท่องเที่ยว โรงแรม สถานที่พักผ่อน ร้านอาหาร เก็บค่าน้ำ 1-3 บาทต่อ ลบ.ม. / และธุรกิจสนามกอล์ฟ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาสัมปทาน เก็บค่าน้ำไม่เกิน 3 บาท ต่อ ลบ.ม.

สำหรับภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ และกิจการอื่นๆ ที่ใช้น้ำในปริมาณมาก เก็บค่าน้ำไม่ต่ำกว่า 3 บาท ต่อลบ.ม. ความต้องการใช้น้ำของคนเรานั้นนับวันจะสูงขึ้น ทุกวันนี้เราใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ  การอุปโภค บริโภค ใช้ในการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การคมนาคม การท่องเที่ยว และนันทนาการ รวมถึงสนามกีฬา สนามกอล์ฟ ทุกวันนี้หลายๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบจากภาวะเศษกิจที่ซบเซา พืชผลทางการเกษตรราคาถูก ธุรกิจหลายๆ อย่างต้องประคองตัว ให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่ขาดทุน  ธุรกิจสนามกอล์ฟก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องใช้น้ำในการดูแลรักษาหญ้า ให้เจริญเติบโต เมืองไทยมีสนามกอล์ฟ ประมาณ 250 สนาม สนามกอล์ฟส่วนมากแทบจะเอาตัวเองไม่รอด  แต่ละสนามทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อจะดึงดูดนักกอล์ฟทั้งใน และต่างประเทศ ให้มาใช้บริการ เพราะต้องการรายได้มาใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ของระบบธุรกิจ ค่าแรงงาน ไฟฟ้า  วัสดุสิ่งของต่างๆ รวมถึงภาษี ที่สนามต้องจ่ายตามความจริง เช่น ภาษีสรรพสามิต / ภาษีสรรพกร / ภาษีโรงเรือนและที่ดิน / ประกันสังคม / และยังไม่รวมภาษีน้ำ ที่กำลังจะถูกเรียกเก็บ และที่สำคัญที่หลายๆ ธุรกิจต้องเจอแน่นอนคือ ภาษีสังคมหรือภาษีขอส่วนบุญ ที่มีแต่มาขอราคาถูก ขอฟรี สิ่งเหล่านี้มีถมไป…

การเรียกเก็บภาษี เป็นสิ่งที่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำเงินรายได้ไปใช้บริหาร และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การคมนาคม การสาธารณสุข สร้างสาธารณูปโภค เงินเดือนของราชการ ทหาร ตำรวจ รวมถึงการป้องกันประเทศ  ดังนั้นเงินภาษีที่รัฐเก็บทุกบาททุกสตางค์ ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุดเพื่อคนส่วนรวม  ไม่ใช้เพื่อคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นครับ

เรื่องโดย : โปรประหยัด ชินราช