เพิ่มน้ำหนักพัตเตอร์-จับกริพพัตต์สองแบบ เคล็ดไม่ลับของ “คอลลิน โมริกาวะ”

กลายเป็นสูตรสำเร็จไปแล้ว สำหรับนักกอล์ฟมือดังทั้งหลาย ที่จะต้องมาร่วมแข่งขันกอล์ฟยูโรเปี้ยนทัวร์ รายการสกอตติช โอเพ่น ซึ่งจะจัดขึ้นก่อนรายการเมเจอร์ ดิ โอเพ่น หนึ่งสัปดาห์

นั่นก็เพื่อเป็นการปรับตัวสำหรับการลงเล่นในรูปแบบสนามลิงค์คอร์ส ซึ่งจะใช้ในการแข่งขันทั้งสองรายการ ขณะที่ในการแข่งขันปีหน้า นักกอล์ฟอย่าง ไบรสัน เดอแชมโบ ก็ยืนยันแล้วว่าจะขอมาเข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้ด้วยอย่างแน่นอน

“คอลลิน โมริกาวะ” แชมป์ ดิ โอเพ่น ในปีนี้ มาร่วมแข่งขันสกอตติช โอเพ่น ที่สนามกอล์ฟเรเนสซองส์ คลับ, สกอตแลนด์ ด้วยเช่นกัน แม้จะผลงานไม่ได้โดดเด่นมากมาย ไม่ได้ฉายแววราศีว่าที่แชมป์เลยแม้แต่น้อย ด้วยการจบการแข่งขันไปที่อันดับ 71

แต่ทั้งนี้ ผลการแข่งขันจากสกอตติช โอเพ่น นั้นไม่สามารถการันตีอะไรได้เลยในสัปดาห์ถัดมา เพราะ ลี มินวู ผู้ที่ได้แชมป์ นั้นกลับไม่ผ่านตัดตัวใน ดิ โอเพ่น เสียอย่างนั้น

อย่างไรก็ตามสำหรับ โมริกาวะ สิ่งที่เขาได้จากการมาเล่นในสนามลิงค์คอร์สของรายการนี้ นั้นคือสิ่งที่ช่วยให้เขากรุยทางสู่การเป็นแชมป์ ดิ โอเพ่น ในอีกหนึ่งสัปดาห์ถัดมาอย่างแท้จริง

โมริกาวะ ใช้การแข่งขันสกอตติช โอเพ่น ในการทำงานร่วมกับ TaylorMade แบรนด์ผู้สนับสนุนด้านอุปกรณ์ของเขา ปรับแต่งชุดเหล็ก TaylorMade P7MC เพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะกับการลงเล่นในลิงค์คอร์สที่พื้นทั้งแข็งและแน่น

และอย่างยิ่งกับไฮไลท์คือ การปรับแต่งพัตเตอร์ TaylorMade TP Juno โดยเปลี่ยนหมุดน้ำหนักจากเดิม 2.5 กรัม จำนวนสองชิ้น มาเป็นหมุด 7.5 กรัมแทน หรือเพิ่มน้ำหนักหัวพัตเตอร์มาอีก 10 กรัม เพื่อช่วยให้เขาพัตต์มีน้ำหนักถึงหลุมมากขึ้น ในการเล่นบนกรีนที่ฝืดของลิ้งค์คอร์ส หลังมีปัญหาพัตต์ขาดน้ำหนักลูกไปไม่ถึงหลุมค่อนข้างเยอะ ในการเล่นที่สกอตติช โอเพ่น

นอกจากการปรับแต่งอุปกรณ์แล้ว เทคนิคส่วนตัวในการพัตต์ของ โมริกาวะ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อเขาใช้รูปแบบการจับกริพถึงสองแบบในรายการเดียวกัน ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนัก

แบบแรกคือ การจับกริพแบบ Conventional ที่สามารถเห็นได้ทั่วไป โมริกาวะ นำมาใช้สำหรับการพัตต์ระยะยาวๆ เกิน 25-30 ฟุต ที่ต้องให้น้ำหนัก โดยเป็นการจัพกริพที่แนวนิ้วโป้งของทั้งสองมือจะอยู่ในแนวเดียวกันคือ บริเวณหน้ากริพ ซึ่ง โมริกาวะ บอกว่ามันช่วยให้เขาเพิ่มน้ำหนักการพัตต์ ในรูปแบบที่ “กระแทกลูก” ได้มากขึ้น

ส่วนพัตต์สั้นๆ โมริกาวะ เปลี่ยนรูปแบบการจับกริพมาเป็นแบบ Saw ที่เขาใช้ประจำแทน โดยเป็นรูปแบบการจับกริพที่เจ้าตัวได้รับคำแนะนำมาจากอดีตนักกอล์ฟชื่อดังอย่าง มาร์ค โอเมียร่า คล้ายกันกับรูปแบบ Claw ที่นักกอล์ฟหลายคนใช้ จากที่มือขวา (สำหรับนักกอล์ฟถนัดขวา) จะจับกริพโดยใช้ช่องว่างระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้เข้ามาประคองที่ด้านข้างของกริพ แล้วใช้สามนิ้วคือ นิ้วโป้ง, นิ้วกลาง และนิ้วนาง แนบไปกับหน้าพัตเตอร์

โมริกาวะ บอกว่าการจับกริพแบบ Saw เข้ากับตัวเขาเป็นอย่างมาก ในการช่วยควบคุมหน้าพัตเตอร์ ลดการทำงานของมือขวาลง ขจัดปัญหาที่มักพัตต์ดันลูกออกขวามาก่อนหน้านี้

การจับกริพสองรูปแบบนี้ ทำให้ โมริกาวะ พัตต์ได้อย่างเฉียบคมตลอดการแข่งขัน ดิ โอเพ่น และไม่เสียสามพัตต์เลยตลอดทั้ง 4 วัน รวมถึงพัตต์เซฟพาร์สำคัญๆ ได้หลายครั้ง

การจับกริพสองแบบ ในสถานการณ์การพัตต์ที่ต่างกัน….เป็นเทคนิคใหม่ ที่คุณอาจนำไปปรับใช้ได้เหมือนกันครับ

**สั่งซื้อสินค้ากอล์ฟออนไลน์จากทุกแบรนด์ชั้นนำ ผ่าน HotGolf Shop สอบถามสินค้าได้ที่คลิก https://line.me/R/ti/p/%40hotgolf