Site icon เว็บไซต์ HotGolfClub.com เว็บไซต์กีฬากอล์ฟอันดับหนึ่ง ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการกอล์ฟ และอยู่เคียงคู่กับนักกอล์ฟมายาวนานกว่า 20 ปี

คุณกุลธร มีสมมนต์ นายกสมาคมผู้บริหารสนามกอล์ฟภาคตะวันออก “ที่ EGA เราทำมากกว่ากอล์ฟ”

ถือเป็นเจ้าโปรเจ็กต์คนหนึ่งของวงการกอล์ฟบ้านเรา ที่มักจะมีโครงการใหม่ๆ น่าสนใจมาอัพเดทให้เราฟังกันเสมอ สำหรับ “พี่ไมค์” คุณกุลธร มีสมมนต์ นายกสมาคมผู้บริหารสนามกอล์ฟภาคตะวันออก หรือ EGA Thailand รวมถึงอีกตำแหน่งหนึ่งคือ ผู้จัดการทั่วไปของสนามกอล์ฟ บูรพา กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท แต่สิ่งที่ผู้ชายคนนี้ต่างจากผู้บริหาร หรือนายกสมาคมฯ ทั่วไปคือเขา “พูดจริง ทำจริง”

โดยเฉพาะจากโครงการ Mie/EGA Thailand Golf Friendship ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ในการเปิดตลาดสนามกอล์ฟไทยให้นักกอล์ฟชาวญี่ปุ่นที่ญี่ปุ่นรู้จักมากขึ้น รวมถึงอีกหลายประเทศที่เตรียมจะมีโครงการคล้ายกันตามหลังจากนี้

แต่สำหรับ “พี่ไมค์” สิ่งที่เขาและ EGA ทำไม่ใช่แค่เรื่องของกอล์ฟเท่านั้น เพราะนี่คือสร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้นานาประเทศได้รู้จักกับ “ประเทศไทย” อย่างแท้จริง…

HG : จุดเริ่มต้นของโครงการ Mie/EGA Thailand Golf Friendship
คุณกุลธร : โครงการนี้เกิดจากการที่ผมได้ไปสำรวจตลาดกอล์ฟในต่างประเทศหลายประเทศ จนค้นพบว่า ธุรกิจสนามกอล์ฟอาจไปไม่รอดถ้าขายกันแค่เฉพาะในประเทศเท่านั้น เราจำเป็นต้องเปิดตัวสู่นานาประเทศ ไม่ว่าจะทั้งประเทศเพื่อนบ้าน, ในเอเชีย ไปจนถึงยุโรป โดยในยุโรปเราได้พยายามไปเปิดทำตลาดที่นั่นมาได้พักใหญ่แล้ว แต่กับประเทศใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นทั้งญี่ปุ่น, เกาหลี หรือในอาเซียน เรากลับยังไม่ได้ไปทำตลาดที่นั่นมากนัก จึงเริ่มมาทำการตลาดกับประเทศเหล่านี้ ไล่ตั้งแต่จีน, เกาหลี และญี่ปุ่น โดยเฉพาะกับญี่ปุ่นที่เรามีการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเต็มตัว ในส่วนของเมืองมิเอะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ด้วยจากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเมืองมิเอะเองก็เล็งเห็นว่า ตลาดกอล์ฟในประเทศญี่ปุ่นเองเริ่มไม่ได้รับความนิยม และมีประชากรกอล์ฟที่น้อยลงกว่าแต่ก่อน จากที่ทั่วประเทศญี่ปุ่นเคยมีจำนวนนักกอล์ฟมากถึง 14 ล้านคน แต่ปัจจุบันกลับเหลือ 7-8 ล้านคนเท่านั้น ทำให้ทางญี่ปุ่นเองตระหนักดีว่าหากประชากรนักกอล์ฟไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลให้ธุรกิจกอล์ฟไม่สามารถอยู่รอดได้
ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเมืองมิเอะจึงติดต่อมายังสมาคมฯ เพื่อสอบถามว่าสามารถร่วมมือกันในทางใดได้บ้าง โดยสมาคมฯ มองว่าการร่วมมือกันครั้งนี้ได้ประโยชน์ในหลายด้าน ไม่ใช่แค่ด้านตลาดกอล์ฟเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั้งทางด้านการท่องเที่ยว และการลงทุนอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการเสริมความมั่นใจให้กลุ่มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วยว่า พัทยาของเราคือเดสติเนชั่นในหลากหลายด้าน และมีทุกสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ทั้งหมด

HG : ปีนี้โครงการมีการเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง
คุณกุลธร : ความตั้งใจของเราคือเป็นพันธมิตรที่ไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไร แต่คือเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ส่งเสริมกัน โดยมีกอล์ฟเป็นสื่อกลาง เพื่อพัฒนากอล์ฟร่วมกัน และทำให้สนามกอล์ฟของทั้งสองประเทศเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ทางเราเองมีโอกาสได้จัดคณะผู้บริหารสนามกอล์ฟในไทย ที่ประกอบด้วยเจ้าของสนามกอล์ฟ, ผู้บริหาร รวมถึงนักธุรกิจ, หอการค้า ตลอดจนผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยนอกจากเราจะได้พูดคุยและเล่นกอล์ฟที่จังหวัดมิเอะแล้ว ยังรวมถึงการสัมมนา และเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ด้วย และกลับกันในเดือนตุลาคมทางเราเองก็จะมีโอกาสได้ต้อนรับคณะจากทางญี่ปุ่นที่เป็นฝ่ายมาเยือนประเทศไทยบ้างด้วยเช่นกัน
สิ่งที่พัฒนาขึ้นของโครงการนี้คือ ช่วงหลังทางญี่ปุ่นเริ่มมีการนำนักธุรกิจและนักลงทุนมาอยู่ในคณะที่มาเยือนประเทศไทยด้วย เหมือนกับที่ทางเราเองมีการเชิญนักธุรกิจในหลายสายธุรกิจไปที่ญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ถือเป็นการช่วยขยายผลประโยชน์ร่วมกันให้ไม่ใช่แค่อยู่แต่ในธุรกิจกอล์ฟแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทางญี่ปุ่นจึงพาหอการค้าของที่นั่นมาพูดคุยกับฝั่งหอการค้าของเรา เพื่อดูช่องทางต่างๆ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการมาลงทุนที่บ้านเรา เนื่องจากต้องยอมรับว่าพื้นที่ของภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ของการลงทุนอยู่แล้ว ทั้งชลบุรีและระยองที่มีโรงงานญี่ปุ่นอยู่เป็นจำนวนมาก

HG : ผลตอบรับจากโครงการเป็นอย่างไร
คุณกุลธร : ผมทำโครงการนี้มาเป็นปีที่ 4 ปีล่าสุดเป็นครั้งแรกที่ผมได้รับการรับรองและสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมถึงอีกหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวของพัทยา, สมาคมต่างๆ ที่มีอยู่ในพัทยา รวมถึงอีกหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวกับการลงทุนในพื้นที่พัทยา นอกจากนี้สิ่งที่ผมประทับใจคือ ทางญี่ปุ่นให้เกียรติเราอย่างมาก ญี่ปุ่นเองปิดประเทศในส่วนของกอล์ฟมานาน แม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะยังยอมรับว่า หลังจากนี้ญี่ปุ่นต้องเลียนแบบไทยในการทำตลาดกอล์ฟ เพราะพวกเขาทำไม่เป็น โดยเฉพาะหลังจากได้มาเห็นตลาดกอล์ฟของไทยที่มีนักกอล์ฟต่างชาติเข้ามาเยือนเป็นจำนวนมาก

HG : วางแผนโครงการในปีต่อไปไว้อย่างไร
คุณกุลธร : เราเริ่มจากระดับ B2B (Business-to-Business) จากสนามกอล์ฟกับสนามกอล์ฟคุยกัน แล้วค่อยขยับไปในระดับ G2G (Government-to-Government) กระทั่งเมื่อรัฐเข้ามาทุกอย่างก็สะดวกและครบมากยิ่งขึ้นด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหอการค้า หรือการท่องเที่ยว และนั่นจะส่งผลให้สมาคมฯเข็มแข้งขึ้น แต่เราจะเป็นฝ่ายนำมาก่อน เนื่องด้วยเป็นธุรกิจที่เรามีความเชี่ยวชาญมากกว่า ต่อไปเราตั้งใจจะทำแบบนี้กับประเทศอื่นๆ โดยมีประเทศจีนเป็นเป้าหมายต่อไป เบื้องต้นตอนนี้ได้มีการพูดคุยกันแล้ว โดยทางเรากำลังดูความพร้อม และศึกษารายละเอียดให้ดีที่สุด
ในปีต่อไปผมอยากให้การกีฬาและการท่องเที่ยวที่เป็นส่วนกลางไปกับเราด้วย เพราะที่ญี่ปุ่นมีระบบการพัฒนานักกีฬาเยาวชนที่ดีมาก เพื่อที่จะได้มีการพูดคุยกันในการให้นักกีฬาของเรามีโอกาสได้ไปเก็บตัวที่ญี่ปุ่นบ้าง ส่วนการท่องเที่ยวก็จะได้มีโอกาสพูดคุยกันในระดับประเทศ เพื่อขยายความร่วมมือซึ่งกันและกันให้กว้างมากขึ้น

HG : ฟีดแบ็คตอนคณะจากญี่ปุ่นมาเมืองไทยเป็นอย่างไร
คุณกุลธร : สิ่งที่คนญี่ปุ่นชอบคือ ความเป็นมิตรของคนไทย รวมถึงในด้านอาหารการกินที่ถูกปากคนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังราคาไม่แพงอีกด้วย โดยเฉพาะอาหารประเภทซีฟู๊ดที่คนญี่ปุ่นชอบมากเป็นพิเศษ รวมถึงที่พักบรรยากาศต่างๆ ตลอดจนด้านสนามกอล์ฟที่เราก็ดีไม่แพ้สนามกอล์ฟที่ญี่ปุ่นเลย ทำให้คณะจากทางญี่ปุ่นที่มาครั้งนี้ได้เห็นว่า ประเทศไทยคือกอล์ฟเดสติเนชั่นอย่างแท้จริง เพราะเรามีพร้อมครบทุกด้าน ทั้งสนามกอล์ฟ, แหล่งท่องเที่ยว, อาหาร, โรงแรมที่พัก โดยเฉพาะเมื่อทั้งหมดมาในราคาที่ไม่แพงเลย เรียกว่าเดสติเนชั่นที่มีความคุ้มค่าอย่างมากในสายตาพวกเขา

HG : ประเทศต่อไปที่อยากทำโครงการคล้ายกัน
คุณกุลธร : จริงๆ เราตั้งใจจะทำโครงการแบบนี้ให้ครบกับทุกประเทศในเอเชีย เราพยายามไม่มองข้ามประเทศไหนไป แม้ต้องยอมรับว่าหลายประเทศก็ไม่ได้มีประชากรกอล์ฟมากนัก อาทิ อินเดียที่เราไม่มองข้ามแน่นอน หรืออย่างอินโดนีเซียที่ก็เป็นประเทศที่น่าสนใจมาก ตามข้อมูลที่เราได้มาที่อินโดนีเซียมีประชากรนักกอล์ฟเยอะมาก แต่ถึงตอนนี้เรายังไม่ได้ไปทำตลาดที่นั่นมากนัก แต่อนาคตต้องไปแน่นอน

HG : ความคาดหวังของ EGA หลังจากนี้
คุณกุลธร : หลังจากนี้ผมคาดหวังว่าโครงการที่เราทำมาจะเป็นเรื่องของ G2G หรือรัฐต่อรัฐมากยิ่งขึ้นอย่างที่ผมได้พูดไป ตลอดจนหน่วยงานหรือแม้แต่เอเจ้นท์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพื่อให้วงการกอล์ฟบ้านเราเติบโตและไปไกลกว่าเดิม เพราะสำหรับผมแล้วเรื่องของกอล์ฟไม่ใช่แค่เรื่องของกีฬาเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างชื่อเสียง รวมถึงสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้อีกด้วย