Putting Solution : ความนิ่งของการพัตต์

“ตีกอล์ฟช่วงล่างต้องนิ่ง” นี่คือคำพูดที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอในช่วงที่เราเริ่มหัดเล่นกอล์ฟใหม่ๆ นักกอล์ฟส่วนมากมักจะพยายามให้ช่วงล่างนิ่งจนไม่สามารถเคลื่อนตัวได้ ในขณะเดียวกันก็จะได้คำแนะนำต่อไปว่า ตอนสวิงจะต้องถ่ายน้ำหนักไปทางขวาขณะแบ็คสวิง และถ่ายน้ำหนักไปทางซ้ายขณะดาวน์สวิง

ถ้าเราลองนึกย้อนดีๆ แล้ว ช่วงล่างของเราจะนิ่งได้อย่างไร? นั่นเป็นเรื่องของวงสวิงที่ผมยกตัวอย่างขึ้นมาเพื่อให้ท่านเห็นภาพได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับการพัตต์นั้น ความสับสนเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะช่วงล่างหรือฐาน ซึ่งหมายถึง เท้า, ขา, สะโพก, กระดูกเชิงกราน ส่วนช่วงบนหรือแกน นั่นก็คือแกนลำตัวช่วงกระดูกสันหลังและกระดูกหน้าอก รวมไปถึงกระดูกต้นคอ และศีรษะ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดต้องนิ่ง และอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ส่วนบริเวณที่จะเคลื่อนที่จริงๆ ก็คือแนวสามเหลี่ยมของไหล่, ข้อศอก และท่อนแขนเพียงเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า คำว่าช่วงล่างนิ่งของการสวิง และการพัตต์นั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความนิ่งของการสวิงคือ การเคลื่อนที่ของจุดที่วางน้ำหนัก แต่ไม่ใช่มวลของร่างกาย แต่ความนิ่งของการพัตต์คือ ต้องนิ่งทั้งแกน และจุดวางน้ำหนัก เพราะการเคลื่อนที่เพียงเล็กน้อยระหว่างการสโตรก อาจส่งผลต่อจุดปะทะของลูกกอล์ฟกับหน้าของพัตเตอร์ ส่งผลถึงระยะการวิ่ง และส่งผลต่อทิศทางของลูกกอล์ฟ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยมันส่งให้เกิดผลเสียได้มากสำหรับการพัตต์

ฉะนั้น ในการพัตต์ทุกครั้ง ผมขอแนะนำให้ท่านเข้าจรด และเซ็ตอัพร่างกายให้นิ่งจริงๆ ก่อนทำการสโตรกทุกครั้ง ผมเชื่อว่าผลงานของท่านจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างแน่นอน แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ สวัสดีครับ

เรื่องโดย: โปรกอล์ฟ ฐิติพงษ์ ณ สงขลา #328